วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เครือข่ายการเรียนรู้
สังคมไทยในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการพัฒนาสมัยใหม่ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือญาติและการแบ่งปันกันโดยตรงระหว่างคนไทยด้วยกันได้คลายพลังลงไปมาก สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือการพึ่งพาอาศัยกันในเชิงการแลกเปลี่ยนผ่านกลไกการจัดการ ความสัมพันธ์ใหม่นี้ได้ฉุดดึงญาติพี่น้องให้เข้ามาใกล้ชิดกันอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านและชุมชนจำนวนมากจึงสามารถรวมตัวกันเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกลไกทางสังคมที่มีพลังในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั้งมวลในปัจจุบัน
เครือข่ายในความหมายของความสัมพันธ์ใหม่มีบทบาทในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ประมวลจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายที่มีอยู่ในสังคมไทย มีการพูดถึงเครือข่ายในความหมายที่เหมือนและแตกต่างกันไป แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ
1. กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน จากการสรุปจากประสบการณ์การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน พบว่า
เครือข่ายชาวบ้าน หมายถึง การรวมตัวกันของบุคคลและ/หรือองค์กรที่มีกิจกรรมและเป้าหมายใกล้เคียงกัน มีชุดของปัญหาคล้ายคลึงกัน มีการพัฒนากิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีการประสานงานและพบปะกันอย่างต่อเนื่อง และมีการกำหนดกฎเกณฑ์ความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างบุคคลและ/หรือองค์กรที่เข้าร่วมในกิจกรรมของเครือข่าย บนพื้นฐานความเป็นอิสระของทุกองค์กรชุมชน และ เครือข่ายชาวบ้าน คือ รูปแบบความสัมพันธ์ของบุคคลและ/หรือชุมชน เพื่อการแก้ปัญหา เอาชนะข้อจำกัดและพัฒนาตนเอง เครือข่ายเป็นกระบวนการทางสังคมที่ประสานพลังของผู้นำชาวบ้านและองค์กรชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถทำได้โดยลำพังหมู่บ้านเดียว เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองในงานพัฒนาสังคม (วิชิต นันทสุวรรณ, 2538)
เครือข่ายของชาวบ้านและชุมชนที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยทั่วไปเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการพึ่งพาอาศัยและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และพบว่าสิ่งที่สามารถพึ่งพาและแลกเปลี่ยนกันได้นั้น ประกอบด้วย
(1) ความรู้และประสบการณ์
(2) ทรัพยากรธรรมชาติ
(3) ผลผลิต
(4) เงินทุน
การรวมตัวเป็นเครือข่ายจึงเกิดได้ไม่ยากนัก และพบเห็นอยู่ทั่วไปในชนบท (จำนงค์ แรกพินิจ, 2539)
2. กลุ่มองค์กรรัฐและนักวิชาการ ให้ความหมายที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายไว้ดังนี้
เครือข่ายการเรียนรู้ คือ การที่ชาวบ้านรวมตัวกัน ขบคิดปัญหาของเขา รวมพลังแก้ปัญหา และหาผู้นำขึ้นมาจากหมู่ชาวบ้านด้วยกันเอง แล้วรวมตัวกันเพื่อมีอำนาจต่อรอง มีการต่อสู้ทางความคิด มีการเรียนรู้จากภายนอก มีการไปมาหาสู่กันเรียนรู้ดูงานด้วยกัน จนกระทั่งเกิดเป็นกระบวนการแก้ปัญหาได้ การทำมาหากินดีขึ้น เศรษฐกิจแต่ละครอบครัวดีขึ้น (เอกวิทย์ ณ ถลาง, 2539)
เครือข่ายการเรียนรู้ หมายถึง การประสานแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติและการปฏิบัติงานอย่างสอดคล้อง เชื่อมโยงกันทั้งระหว่างงานที่รับผิดชอบ การจัดการศึกษาในและนอกระบบโรงเรียนและระหว่างหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับต่างๆ ตลอดจนระบบการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดและกระจายความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความต้องการของบุคคลและชุมชน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2535)
เครือข่ายการเรียนรู้ หมายถึง ขอบเขตแห่งความสัมพันธ์ของกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีลักษณะประสาน ติดต่อสัมพันธ์ เชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือหลายกิจกรรม ระหว่างคนกับคน คนกับกลุ่ม และกลุ่มกับกลุ่ม" (ประทีป อินแสง, 2539)
3. กลุ่มเครือข่ายเทคโนโลยี ซึ่งใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักในการสัมพันธ์และเชื่อมโยงคนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสูงในภาคสังคมเมือง ธุรกิจ และสถาบันการศึกษา
นอกเหนือจากการให้ความหมายของเครือข่ายแล้ว การศึกษาที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับกระบวนการของเครือข่าย ไว้ดังนี้
1. เวทีชาวบ้าน คือ เงื่อนไขเริ่มต้นของเครือข่าย เวทีชาวบ้านจะเชื่อมโยงคนเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิด เครือข่ายการเรียนรู้ ที่ชาวบ้านไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนดูงานและเข้าไปมีบทบาทช่วยงานของหมู่บ้านอื่น ๆ มีการสื่อสารถึงกันตลอด มีการรวมกลุ่มผู้รู้เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ และเป็นครูชาวบ้านให้กับหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ต้องการ เครือข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงมีธรรมชาติและพัฒนาการของตนเองแตกต่างกัน ตั้งแต่เป็น เครือข่ายการเรียนรู้ จนถึง องค์กรเครือข่าย ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าที่สุดของเครือข่ายที่เกิดขึ้น คือ มีการทำกิจกรรมและมีระบบการจัดการร่วมกันขึ้น และประสบการณ์การจัดการร่วมกันของหลายเครือข่าย นำไปสู่ข้อสรุปบางประการ
2. บทบาทของเครือข่ายไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาโครงสร้างองค์กรที่แข็ง มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่เป็นการสร้างกระบวนการความร่วมมือระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งเริ่มต้นจาก การเรียนรู้ คือ การแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในประเด็น การจัดการ ซึ่งหมายถึง ระบบความสัมพันธ์ของคนและกิจกรรมเพื่อการพัฒนา ทรัพยากร ซึ่งครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติ โภคทรัพย์และเงินทุน
3. การพัฒนาระบบการจัดการในระดับเครือข่ายจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับความเป็นอิสระขององค์กรชุมชน ให้รูปแบบวิธีการของแต่ละองค์กรชุมชนที่แตกต่างกันดำรงอยู่ เป็นความหลากหลายในทิศทางเดียวกัน
4. กิจกรรมระดับเครือข่ายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกระบวนการนี้ กิจกรรมเริ่มต้นจากความร่วมมือในวงเล็ก ๆ เพื่อสะสมประสบการณ์ แล้วค่อย ๆ พัฒนาระบบการจัดการเฉพาะกิจกรรมที่ชัดเจน และขยายแวดวงความร่วมมือให้กว้างออกไป (วิชิต นันทสุวรรณ, 2538)
5. ผลการศึกษาการเรียนรู้ที่ชาวบ้านและชุมชนเป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของกระบวนการในทุกภาคของประเทศ พบว่า การเรียนรู้ดังกล่าวประกอบด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้
*** การวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาทั้งของตนเอง ชุมชน และเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้ากับสังคมไทยตลอดจนสังคมโลก
*** การแสวงหาทางออกที่เหมาะสมกับตนเองและชุมชน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การประชุม สัมมนา การศึกษาดูงาน และการเรียนรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ
*** การสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นผลจากการตัดสินใจของตนเองและชุมชน ในแง่ของชุมชนกิจกรรมที่ทำขึ้นนี้อาจเรียกว่า กิจกรรมเครือข่าย เพราะเป็นตัวชักจูงและเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน
6. การประเมินผลกิจกรรม และนำผลที่ได้ไปแก้ไขปรับปรุงกระบวนการ
ผลของกระบวนการเรียนรู้ที่มีต่อผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พิจารณาได้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่า หรือทั้งหมด (วิมลลักษณ์ ชูชาติ, 2540)
ความหมายของเครือข่ายที่มีอยู่ในสังคมไทยจึงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ใหม่ที่มีบทบาท 2 ด้าน คือ
  • ด้านการพัฒนา เป็นการร่วมมือกันของคนและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
  • ด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการสร้างเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ และความรู้

เป็นเครือข่ายในความหมายทางด้านสังคม และมีการพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักในการจัดความสัมพันธ์และเชื่อมโยงคนและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในการเรียนรู้และการพัฒนา ซึ่งเป็นเครือข่ายในความหมายทางด้านเทคโนโลยี
และเมื่อการศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน การจัดการศึกษาโดยกระบวนการของเครือข่าย จึงเป็นแนวทางใหม่ของการจัดการศึกษาที่มีลักษณะสำคัญ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สรุปไว้ดังนี้
1. เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยในลักษณะที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชนต่าง ๆ
2. อาศัยองค์ความรู้เดิมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนา โดยมีการประยุกต์ใช้วิทยาการสมัยใหม่ด้วยความเหมาะสม
3. มีองค์กรชุมชนเป็นหน่วยของการจัดการศึกษา โดยสมาชิกในชุมชนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ปัญหาของคนในชุมชนร่วมกัน
การจัดการศึกษาในลักษณะ “เครือข่ายการเรียนรู้” นี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์หาสาเหตุ และแนวทางแก้ไข ทดลองปฏิบัติและสรุปบทเรียนร่วมกัน กระบวนการดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ในชีวิตจริงของคนในชุมชน จะช่วยให้คนเหล่านี้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการเรียนรู้จากปัญหาจริงและจะช่วยให้ชุมชนสามารถยกระดับการเรียนรู้ในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ให้สูงขึ้นได้ในระดับพัฒนาการของชุมชนปัจจุบัน การจัดการศึกษาในแนวทางเครือข่ายการเรียนรู้ ในความหมายที่เป็นเครือข่ายทางสังคมจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกว่าความหมายทางเทคโนโลยี

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550

งานที่ อ.ชวนมอบหมายให้นักศึกษาคบ.4 ภาษาอังกฤษ ทุกคน คือ
ครูขอกำหนดงานเพื่อให้ทุกคนได้ฝึกการทำงานดังนี้งานกลุ่ม ให้นักศึกษารวมกลุ่มๆละ 4-5 คน แล้วอภิปรายในประเด็นต่อไปนี้
1. เทคโนโลยีสารสนเทศ"ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาในกลุ่ม ซึ่งอาจในประเด็น ประโยชน์ที่ได้รับ ข้อพึงปฏิบัติ ข้อจำกัดในการใช้งาน หรืออื่นๆ
2. นักศึกษาเข้าใจว่า "แหล่งและเครือข่ายการเรียนรู้" ในปัจจุบันจะทำรูปแบบในการเรียนการสอนในโรงเรียนมีการเปลี่ยนไปหรือไม่? เพราะอะไร?
( เมื่อใช้กระบวนการกลุ่ม ได้คำตอบตามประเด็นแล้ว สรุปรายละเอียดส่งในE-mailto:mail:chipp49@gmail.com(ไม่ต้องแนบfileมากับ mail)
***งานเดี่ยว ให้นักศึกษาทุกคน ทำหน้าแรก (Homepage) อย่างง่าย หรือ webblogโดยมี ข้อมูลตนเอง ที่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้
(ให้อิสระกำหนดเอง)และให้แสดงความคิดเห็นของตนเองในประเด็นที่เกี่ยวกับเครือข่ายการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ ในแง่มุมที่ตนเองสนใจ
(แล้วแจ้ง Homepage หรือ webblog ของตนเองให้ครูผ่าน E-mail:chipp49@gmail.com )